ฝังเส้น” กับ “ชักร่อง” บนพื้นกรวดล้าง สร้างลวดลาย

การฝังเส้นและการชักร่อง เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการสร้างเส้นแบ่งพื้นที่เพื่อลดการแตกร้าวบนผิวกรวดล้างพร้อมกับสร้างลวดลายในขณะเดียวกัน ซึ่งมีรูปแบบ การใช้งาน และขั้นตอนการติดตั้งแตกต่างกันไป

กรวดล้างเป็นอีกวัสดุตกแต่งพื้นซึ่งต้องมีการทำเส้นแบ่งเพื่อลดรอยแตกร้าวบนพื้นผิว โดยเส้นแบ่งนี้สามารถใช้สร้างลวดลายได้ด้วย การทำเส้นแบ่งบนพื้นกรวดล้างจะนิยมกันอยู่ 2 วิธี คือ การฝังเส้น โดยวัสดุที่ทำเส้นแนวจะถูกฝังถาวรไปกับพื้นผิวกรวดล้าง กับอีกวิธีคือ การชักร่อง  ซึ่งจะดึงเอาเส้นแนวออกภายหลังจากที่ส่วนผสมเซตตัว เพื่อให้เกิดแนวร่องบนพื้นผิว

การฝังเส้น
เส้นที่ใช้ฝังบนพื้นกรวดล้างจะเรียกว่า เส้นแบ่งแนว มีหน้าตัดคล้ายตัว T เส้นแบ่งแนวมีหลายวัสดุให้เลือก ได้แก่ เส้นไม้  (ควรเป็นไม้ที่ยืดหดตัวน้อยและไม่มียาง เช่น ไม้สัก เป็นต้น) เส้น PVC และเส้นโลหะชนิดต่างๆ เช่น ทองเหลือง อะลูมิเนียม เป็นต้น  ทั้งนี้เส้น PVC สามารถดัดโค้งได้ โดยใช้ตะปูวางเป็นแนวแล้วดัดเส้น PVC ให้โค้งไปตามแนวตะปู ส่วนเส้นโลหะมักใช้มือดัดให้โค้งโดยใช้เครื่องมือง่ายๆ อย่าง คีม หรือค้อน เป็นอุปกรณ์ช่วย

การติดตั้งเส้นแบ่งแนวจะโดยใช้ปูนซีเมนต์เทาผสมทรายช่วยยึด ทิ้งไว้ 24 ชม. ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการหล่อเทส่วนผสมกรวดล้าง ข้อดีของการฝังเส้นคือ หลังจากเสร็จงานแล้วเส้นแบ่งแนวจะถูกฝังถาวรเรียบเสมอไปกับพื้นกรวดล้าง จึงทำความสะอาดได้ง่าย เหมาะกับพื้นกึ่งภายนอกที่เน้นเรื่องความสะอาด อย่างระเบียงขนาดเล็ก หรือพื้นที่อเนกประสงค์ที่มีหลังคาคลุม สำหรับกรณีเลือกใช้เส้นโลหะ ควรหมั่นขัดทำความสะอาดเป็นประจำเพื่อให้เส้นโลหะดูเงางามอยู่เสมอ

ภาพ: การฝังเส้นบนพื้นกรวดล้าง
ภาพ: ขั้นตอนการฝังเส้นบนพื้นกรวดล้าง

       การชักร่อง
การชักร่องบนพื้นผิวกรวดล้างจะเน้นลวดลายที่เป็นเส้นตรง โดยเส้นที่ใช้วางบนพื้นก่อนเทกรวดล้างสำหรับงานชักร่อง จะเรียกว่า ไม้แนว  ซึ่งมีหน้าตัดรูปสี่เหลี่ยมคางหมู  ไม้แนวจะมีทั้งชนิดที่เป็นไม้ และ PVC กรณีเลือกใช้ไม้ควรเป็นไม้ที่หดตัวน้อยและไม่มียาง เช่นเดียวกับเส้นแบ่งแนว

ในการติดตั้งไม้แนวให้เอาด้านแคบของหน้าตัดวางลงกับพื้น (เพื่อให้ดึงออกได้ง่ายในภายหลัง) โดยใช้ปูนซีเมนต์ขาวผสมน้ำให้ข้นเหนียวคล้ายกาวเป็นตัวช่วยยึดก่อนจะหล่อเทส่วนผสมกรวดล้าง หลังจากเสร็จสิ้นงานอย่างน้อย 24 ชม. จึงค่อยดึงไม้แนวออกให้เกิดเป็นร่องบนพื้นผิว

ขณะใช้งาน แนวร่องบนพื้นผิวกรวดล้างอาจเกิดการแตกกะเทาะตามขอบ และมักเป็นแหล่งสะสมฝุ่นผงซึ่งทำความสะอาดได้ยาก แต่ในขณะเดียวกัน แนวร่องจะช่วยรองรับการยืดหดตัวของพื้นกรวดล้างได้ดี จึงมีโอกาสเกิดแตกรอยร้าวบนพื้นผิวน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการฝังเส้น  เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติแล้ว การชักร่องบนพื้นกรวดล้างจะเหมาะกับใช้งานกับพื้นที่ภายนอกทั่วไปซึ่งเผชิญแดดฝนเป็นประจำ

ภาพ: การชักร่องบนพื้นกรวดล้าง
ภาพ: ขั้นตอนการชักร่องบนพื้นกรวดล้าง

Leave a Comment

Your email address will not be published.